Merriam-Webster อ้างว่า การใช้คำว่า "Webmaster" (ผู้ดูแลเว็บ) ปรากฏครั้งแรกในปี 1993 ซึ่งเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ก่อนที่จะมีการก่อตั้ง Google เสียอีก อย่างไรก็ตาม คํานี้กำลังจะกลายเป็นคำโบราณ และตามที่ระบุไว้ในข้อมูลที่พบในหนังสือต่างๆ การใช้คำนี้ลดลงอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาประสบการณ์ของผู้ใช้ เราพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บเพียงไม่กี่คนที่เรียกตัวเองว่าผู้ดูแลเว็บ บุคคลในวิชาชีพนี้มีแนวโน้มที่จะเรียกตัวเองว่า นักปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือการค้นหา (Search Engine Optimizer หรือ SEO), นักการตลาดออนไลน์, บล็อกเกอร์, นักพัฒนาเว็บ หรือเจ้าของเว็บไซต์ แต่มีน้อยคนมากที่เรียกตัวเองว่า "ผู้ดูแลเว็บ"
ในการระดมสมองเพื่อหาชื่อใหม่ เราพบว่าไม่มีคําใดเพียงคําเดียวที่จะสรุปงานที่ผู้คนทำในเว็บไซต์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และเพื่อมุ่งเน้นหัวข้อที่เราพูดถึง (Google Search) ให้มากขึ้น เราจึงเปลี่ยนชื่อจาก "Google ศูนย์กลางผู้ดูแลเว็บ" เป็น "Google Search Central" ทั้งในเว็บไซต์ของเราและในโซเชียลมีเดีย เป้าหมายของเรายังคงเหมือนเดิม นั่นคือมุ่งหวังที่จะช่วยให้ผู้คนปรับปรุงการแสดงผลเว็บไซต์ของตนใน Google Search การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
เรากำลังรวมเอกสารความช่วยเหลือและบล็อกไว้ในเว็บไซต์เดียวอีกด้วย เพื่อช่วยให้ผู้คนเรียนรู้วิธีปรับปรุงการแสดงผลเว็บไซต์ของตนใน Google Search
จากนี้ไป ศูนย์ช่วยเหลือของ Search Console จะมีเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Search Console เท่านั้น และจะยังเป็นศูนย์รวมของฟอรัมความช่วยเหลืออยู่ต่อไป โดยเปลี่ยนชื่อจาก "ชุมชนความช่วยเหลือของผู้ดูแลเว็บ" เป็น "ชุมชน Google Search Central" ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทำงานของ Google Search, การรวบรวมข้อมูลและการจัดทำดัชนี, หลักเกณฑ์ของ Search และหัวข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับ Search จะย้ายไปอยู่ที่เว็บไซต์ใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้จะมุ่งเน้นที่เอกสารประกอบสำหรับนักพัฒนาเว็บเท่านั้น การย้ายเนื้อหาจะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันข้างหน้านี้
เราจะสร้างเนื้อหาสําหรับทุกคนที่ต้องการให้เว็บไซต์ของตนปรากฏใน Google Search อยู่ต่อไป ไม่ว่าคุณจะเพิ่งเริ่มใช้ SEO หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บที่มีประสบการณ์แล้วก็ตาม
บล็อกที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้จะย้ายไปอยู่ที่เว็บไซต์หลักของเราด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราจะรอประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อให้ผู้ติดตามได้อ่านโพสต์ล่าสุดนี้ในแพลตฟอร์มเดิม การย้ายบล็อกนี้ซึ่งรวมถึงบล็อกที่แปลเป็นภาษาอื่นอีก 13 บล็อกไปไว้ในที่เดียวกันมีประโยชน์ดังนี้
นับจากนี้เป็นต้นไป บล็อกโพสต์ทั้งหมดที่เก็บถาวรและบล็อกโพสต์ใหม่จะปรากฏที่ https://developers.google.com/search/blog คุณไม่จําเป็นต้องดําเนินการใดๆ เพื่อรับข้อมูลอัปเดตจากเราอยู่ต่อไป เพราะเราจะเปลี่ยนเส้นทางผู้สมัครรับชุด RSS และอีเมลในปัจจุบันไปยัง URL ของบล็อกใหม่ดังกล่าว
ตัวการ์ตูนสัญลักษณ์ของ Googlebot จะมีการอัปเกรดด้วยเช่นกัน วันนี้ Googlebot มีคู่หูคนใหม่มาร่วมท่องเว็บไปด้วยกันหลังจากที่ทำงานรวบรวมข้อมูลอินเทอร์เน็ตเพียงลำพังมาเนิ่นนาน
เมื่อพบเจ้าสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็นตัวนี้เป็นครั้งแรก เราสงสัยว่า "เป็นแมงมุมจริงหรือ" หลังจากเฝ้ามองมาสักพัก เราก็สังเกตเห็นว่าลูกผสมแมงมุมกับบ็อตตัวนี้กระโดดได้ไกลมากและดูดีที่สุดเมื่ออยู่ท่ามกลางแสงสีเขียว เราคิดว่าเพื่อนสนิทตัวใหม่ของ Googlebot เป็นแมงมุมสกุล Phidippus แต่ดูเหมือนว่าสัตว์ตัวนี้จะมีลักษณะพิเศษที่คล้ายบ็อตอยู่เหมือนกัน Googlebot ลองตั้งชื่อเล่นใหม่ๆ ให้บ็อตแมงมุมตัวน้อยมาหลายชื่อแล้ว แต่ยังเลือกไม่ได้สักที ช่วยเลือกหน่อยได้ไหม
สุดท้ายนี้ ขอให้คุณอัปเดตบุ๊กมาร์ก และหากมีคำถามหรือความคิดเห็นใดๆ โปรดติดต่อเราทาง Twitter และในชุมชนความช่วยเหลือของ Google Search Central
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมธุรกิจการอนุญาตให้ใช้รูปภาพเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ถึงข้อกำหนดในการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาที่พบใน Google รูปภาพ ในปี 2018 เราเริ่มรองรับข้อมูลเมตาเกี่ยวกับสิทธิ์ในรูปภาพที่ IPTC กำหนด ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เราได้ประกาศเกี่ยวกับกรอบข้อมูลเมตาใหม่ผ่านทาง Schema.org และ IPTC สำหรับรูปภาพที่ขอลิขสิทธิ์ได้ ตั้งแต่นั้นมา เราเห็นว่าเว็บไซต์ แพลตฟอร์มรูปภาพ และเอเจนซีทุกขนาดนำมาตรฐานใหม่นี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย วันนี้เราจะเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ใน Google รูปภาพซึ่งจะไฮไลต์ข้อมูลการอนุญาตให้ใช้รูปภาพ เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจวิธีใช้งานรูปภาพอย่างมีความรับผิดชอบได้ง่ายขึ้น
รูปภาพที่มีข้อมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิจะมีป้ายกำกับว่า "ขอลิขสิทธิ์ได้" ในหน้าผลการค้นหา เมื่อผู้ใช้เปิดโปรแกรมดูรูปภาพ (หน้าต่างที่ปรากฏขึ้นเมื่อเลือกรูปภาพ) เราจะแสดงลิงก์ไปยังรายละเอียดของใบอนุญาตและ/หรือหน้าข้อกำหนดซึ่งเจ้าของเนื้อหาหรือผู้อนุญาตระบุไว้ รวมถึงจะแสดงลิงก์เพิ่มเติม (หากมี) ที่นำผู้ใช้ไปยังหน้าจากเจ้าของเนื้อหาหรือผู้อนุญาตซึ่งผู้ใช้ขอใช้งานรูปภาพได้
นอกจากนี้เรายังทําให้การค้นหารูปภาพง่ายขึ้นด้วยข้อมูลเมตาการอนุญาตให้ใช้สิทธิ โดยได้ปรับปรุงเมนูแบบเลื่อนลงของสิทธิในการใช้งานใน Google รูปภาพ เพื่อรองรับการกรองสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons License) รวมถึงรายการที่มีใบอนุญาตเชิงพาณิชย์หรือใบอนุญาตอื่นๆ
เราเชื่อว่านี่เป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจลักษณะของเนื้อหาที่ตนกำลังดูใน Google รูปภาพได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งทราบวิธีใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟีเจอร์เหล่านี้ วิธีนำไปใช้ และการแก้ปัญหาได้ที่หน้าความช่วยเหลือสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ Google และหน้าคำถามที่พบบ่อย
หากต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับฟีเจอร์เหล่านี้ โปรดใช้เครื่องมือแสดงความคิดเห็นที่มีให้ในหน้าสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของฟีเจอร์รูปภาพที่ขอลิขสิทธิ์ได้ ฟอรัมสำหรับผู้ดูแลเว็บ Google และรอติดตามการให้ความช่วยเหลือแบบเสมือนในเวลาทำการที่กําลังจะมาถึง ซึ่งเราจะมาตอบคําถามทั่วไป
"การทํางานร่วมกันระหว่าง Google และ CEPIC ซึ่งเริ่มต้นขึ้นประมาณ 4 ปีที่แล้วทำให้มีการระบุชื่อผู้เขียนและผู้ถือสิทธิ์ใน Google รูปภาพเสมอ ปัจจุบันการใช้ลิงก์สุดท้ายของเชนในการระบุว่ารูปภาพใดขอลิขสิทธิ์ได้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเรากับ Google เราดีใจที่เอเจนซีการถ่ายภาพและอุตสาหกรรมธุรกิจรูปภาพในวงกว้างขึ้นจะได้รับโอกาสใหม่ๆ จากการทำงานร่วมกันครั้งนี้ ต้องขอบคุณ Google" - Alfonso Gutierrez ประธานของ CEPIC
"ผลจากการทํางานร่วมกันระหว่าง IPTC กับ Google เป็นระยะเวลาหลายปีคือตอนนี้ Google รูปภาพจะนำผู้ใช้ที่สนใจกลับไปยังผู้ให้รูปภาพเมื่อมีการใช้รูปภาพที่มีข้อมูลเมตาสำหรับรูปภาพ IPTC แบบฝังซ้ำในเว็บไซต์ยอดนิยม" Michael Steidl ผู้นำของคณะทํางานด้านข้อมูลเมตาของรูปภาพ IPTC "ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ให้บริการรูปภาพและเป็นสิ่งจูงใจในการเพิ่มข้อมูลเมตา IPTC ลงในไฟล์ภาพ" - Michael Steidl ผู้นำของคณะทํางานด้านข้อมูลเมตาของรูปภาพ IPTC
"ฟีเจอร์รูปภาพที่ขอลิขสิทธิ์ได้ของ Google เป็นพัฒนาการสำคัญสู่การช่วยให้ผู้ใช้ระบุและออกใบอนุญาตการใช้เนื้อหาภาพได้อย่างรวดเร็ว Google ได้ทํางานร่วมกับ DMLA และสมาชิกอย่างใกล้ชิดในระหว่างการพัฒนาฟีเจอร์ โดยใช้เครื่องมือร่วมกันและแชร์รายละเอียดต่างๆ ไปพร้อมกับรวบรวมความคิดเห็นและตอบคําถามหรือข้อกังวลของสมาชิก เราหวังว่าความร่วมมือนี้จะดำเนินต่อไปเมื่อมีการนำฟีเจอร์ไปใช้งานทั่วโลก" - Leslie Hughes ประธานสมาคมการออกใบอนุญาตสื่อดิจิทัล (DMLA)
"เราอยู่ในโลกที่สื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ อยู่ตลอดเวลาและรูปภาพก็เป็นองค์ประกอบการเล่าเรื่องและการสื่อสารออนไลน์ที่ผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ความสำคัญ ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้จำเป็นต้องทราบความสำคัญของการอนุญาตให้ใช้รูปภาพของตนจากแหล่งที่มาที่เหมาะสมเพื่อปกป้องสิทธิ์ และเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนจากการลงทุนสร้างรูปภาพเหล่านี้ต่อไป เราหวังว่ากระบวนการของ Google จะช่วยให้ผู้ใช้รับทราบมูลค่าที่แท้จริงของรูปภาพที่มีใบอนุญาต และเข้าใจถึงสิทธิ์ที่จําเป็นสำหรับการใช้งาน" - Ken Mainardis รองประธานอาวุโสฝ่ายเนื้อหาของ Getty Images และ iStock by Getty Images
"ฟีเจอร์รูปภาพที่ขอลิขสิทธิ์ได้ของ Google ช่วยให้ผู้ใช้ค้นหารูปภาพคุณภาพสูงใน Google รูปภาพ เพื่อซื้อหรือออกใบอนุญาตสำหรับรูปภาพโดยเป็นไปตามลิขสิทธิ์รูปภาพได้ง่ายขึ้น นี่เป็นความสำเร็จที่สำคัญของอุตสาหกรรมการถ่ายภาพระดับมืออาชีพในแง่ที่ทำให้ผู้ใช้ระบุรูปภาพที่จะขอใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ EyeEm ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดที่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงการค้นหาและซื้อรูปภาพของบริษัทต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการรูปภาพที่ขอลิขสิทธิ์ได้ของ Google ตั้งแต่ต้น และตอนนี้ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นการเปิดตัวฟีเจอร์เหล่านี้ - Ramzi Rizk ผู้ร่วมก่อตั้ง EyeEm
"ในฐานะที่ picturemaxx เป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลกของผู้ให้บริการรูปภาพมืออาชีพและผู้ใช้รูปภาพดิจิทัล เราเปิดรับฟีเจอร์รูปภาพที่ขอลิขสิทธิ์ได้ของ Google ด้วยความยินดี สำหรับลูกค้าที่เป็นครีเอเตอร์และผู้จัดการสิทธิ์ การแสดงข้อมูลลิขสิทธิ์และการอนุญาตให้ใช้สิทธินั้นมีความสำคัญพอๆ กับการได้แสดงเนื้อหาในเครื่องมือค้นหา picturemaxx จะใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์นี้โดยให้ลูกค้าลงรูปภาพใน Google รูปภาพได้เร็วๆ นี้ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา" - Marcin Czyzewski ประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ picturemaxx
"Google ได้ปรึกษาและทํางานร่วมกับ Alamy และบุคคลสําคัญอื่นๆ ในอุตสาหกรรมธุรกิจรูปภาพในโครงการนี้อย่างใกล้ชิด แท็ก "ขอลิขสิทธิ์ได้" จะลดความสับสนของผู้บริโภคและช่วยให้สาธารณชนในวงกว้างทราบถึงมูลค่าของงานครีเอทีฟคุณภาพสูงและภาพข่าว - James Hall ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Alamy
"ฟีเจอร์ใหม่ของ Google รูปภาพช่วยทั้งผู้สร้างรูปภาพและผู้บริโภคด้วยการแสดงให้เห็นวิธีขอรับใบอนุญาตการใช้งานเนื้อหาจากผู้สร้างอย่างเหมาะสม เรายินดีที่ได้ร่วมพัฒนาฟีเจอร์นี้กับ Google อย่างใกล้ชิด โดยการสนับสนุนการปกป้องลิขสิทธิ์ และช่วยให้ชุมชนผู้ให้บริการรูปภาพกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ในการพัฒนาฟีเจอร์นี้ Google ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนระบบนิเวศการสร้างเนื้อหาให้เห็นอย่างชัดเจน" - Paul Brennan รองประธานฝ่ายปฏิบัติการด้านเนื้อหาของ Shutterstock
"ฟีเจอร์ใหม่ของ Google รูปภาพที่ระบุเนื้อหาที่ขอลิขสิทธิ์ได้ให้ตัวเลือกเพิ่มเติมแก่ทีมครีเอทีฟเพื่อค้นพบเนื้อหาที่โดดเด่น การที่ Google พัฒนา Google รูปภาพให้เป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือในการระบุเนื้อหาที่ขอลิขสิทธิ์ได้จะทำให้เอเจนซีและช่างภาพอิสระทุกรายมีโอกาสได้รับการค้นพบ ซึ่งนำไปสู่กระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการค้นหาและขออนุญาตใช้งานเนื้อหาที่ขอลิขสิทธิ์ได้และเกี่ยวข้องที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว - Andrew Fingerman ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ PhotoShelter
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้จัดงาน Webmaster Conference Lightning Talk ในหัวข้อผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์และ Search Console เราได้เปิดแชทสดระหว่างการพูดคุยและมีผู้ชมถามคำถามเข้ามามากมาย ซึ่งเราพยายามตอบให้มากที่สุดแล้วแต่พิมพ์ตอบได้ไม่หมด จึงเขียนบล็อกโพสต์นี้ขึ้นเพื่อเก็บตกคำถามที่ผู้ชมถามมาในวันนั้น
หากคุณยังไม่ได้ดูวิดีโอดังกล่าว ก็ดูได้ที่ได้ล่าง โดยเราพูดถึงวิธีเริ่มต้นใช้ผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์และ Search Console เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพลักษณะที่ปรากฏในการค้นหาใน Google Search
หากเว็บไซต์ใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้าง เว็บไซต์ดังกล่าวจะอยู่ในอันดับที่สูงกว่าคู่แข่งหรือไม่
ข้อมูลที่มีโครงสร้างเพียงอย่างเดียวไม่ถือเป็นปัจจัยในการจัดอันดับทั่วไป แต่จะช่วยให้ Google เข้าใจเนื้อหาในหน้า ซึ่งช่วยให้เราแสดงเนื้อหาในที่ที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น และยังทำให้หน้าดังกล่าวมีสิทธิ์ปรากฏในประสบการณ์การค้นหารูปแบบอื่นๆ
คุณจะแนะนำให้ใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้างใดในหน้าหมวดหมู่อีคอมเมิร์ซ
คุณไม่จำเป็นต้องมาร์กอัปผลิตภัณฑ์ในหน้าหมวดหมู่ ให้มาร์กอัปเฉพาะเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นองค์ประกอบหลักในหน้า
ควรใส่เนื้อหามากเพียงใดในข้อมูลที่มีโครงสร้าง มีการจำกัดปริมาณเนื้อหาไหม
เราไม่ได้กำหนดปริมาณข้อมูลที่มีโครงสร้างที่คุณจะใช้ได้ในหน้า แต่โปรดปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทั่วไป เช่น มาร์กอัปต้องปรากฏต่อผู้ใช้และบ่งบอกถึงเนื้อหาหลักของหน้า/span>
การคลิกและการแสดงผลของคำถามที่พบบ่อยอิงจากข้อมูลใดบ้าง
หน้าคำถามที่พบบ่อยมีรายการคำถามและคำตอบเกี่ยวกับหัวข้อเฉพาะ หน้าคำถามที่พบบ่อยที่ได้มาร์กอัปไว้อย่างถูกต้องอาจมีสิทธิ์แสดงเป็นผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ใน Search และในการดำเนินการใน Google Assistant ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์เข้าถึงผู้ใช้ที่เหมาะสมได้ ผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์เหล่านี้ช่วยให้ผู้ใช้ขยายและยุบคำตอบของคำถามบางข้อได้ รวมถึงตัวอย่างที่มีคำตอบของคำถาม ทุกครั้งที่มีการแสดงผลการค้นหาหนึ่งๆ ต่อผู้ใช้ในผลการค้นหาของ Search เราจะนับเป็นการแสดงผลใน Search Console และหากผู้ใช้คลิกเพื่อเข้าชมเว็บไซต์ ก็จะนับเป็นการคลิก การคลิกเพื่อขยายและยุบผลการค้นหาจะไม่นับเป็นการคลิกใน Search Console เนื่องจากไม่ได้เป็นการนำผู้ใช้ไปยังเว็บไซต์ คุณตรวจสอบการแสดงผลและการคลิกในผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ "คำถามที่พบบ่อย" ได้โดยใช้แท็บ "ลักษณะที่ปรากฏในการค้นหา" ในรายงานประสิทธิภาพการค้นหา
Google จะแสดงผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์สำหรับรีวิวจากเว็บไซต์ที่โฮสต์รีวิวไหม
ธุรกิจหรือผู้ให้บริการเนื้อหาต้องไม่เขียนหรือจัดทำรีวิวขึ้นเอง หลักเกณฑ์ตัวอย่างรีวิวระบุไว้ว่า "การให้คะแนนต้องมีแหล่งที่มาจากผู้ใช้โดยตรง" การเผยแพร่รีวิวที่ธุรกิจเขียนขึ้นเองนั้นละเมิดหลักเกณฑ์และอาจทำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับรีวิวดังกล่าว
มีสคีมาบางประเภทที่ Google ไม่ได้ใช้ แล้วเหตุใดเราควรต้องใช้สคีมาเหล่านั้น
Google รองรับประเภทสคีมาหลายประเภทด้วยกัน แต่เครื่องมือค้นหาอื่นอาจใช้สคีมาประเภทอื่นๆ เพื่อแสดงผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ ดังนั้นคุณอาจต้องการใช้สคีมาประเภทนั้นๆ กับเครื่องมือค้นหาอื่น
ทำไมบางครั้งผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ที่เคยปรากฏใน Search ก่อนหน้านี้จึงหายไป
อัลกอริทึมของ Google จะปรับแต่งผลการค้นหาเพื่อสร้างประสบการณ์การค้นหาที่ระบบคิดว่าดีที่สุดสำหรับผู้ใช้แต่ละคน โดยอิงจากตัวแปรหลายอย่าง เช่น ประวัติการค้นหา ตำแหน่ง และประเภทอุปกรณ์ ในบางกรณี ระบบอาจกำหนดว่าฟีเจอร์หนึ่งเหมาะสมกว่าอีกฟีเจอร์หนึ่ง หรือลิงก์สีน้ำเงินธรรมดาอาจเหมาะสมที่สุดแล้วก็ได้ ดูรายงานสถานะผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ หากคุณไม่เห็นว่ารายการที่ถูกต้องมีจำนวนลดลงหรือข้อผิดพลาดมีจำนวนพุ่งสูงขึ้น แสดงว่าการใช้งานของคุณไม่มีปัญหา
ฉันจะยืนยันข้อมูลที่มีโครงสร้างที่สร้างแบบไดนามิกได้อย่างไร
การตรวจสอบ URL ใน Search Console เป็นวิธีตรวจสอบการใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้างซึ่งปลอดภัยที่สุด โดยจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเวอร์ชันของหน้าเว็บที่เจาะจงหนึ่งๆ ซึ่ง Google จัดทำดัชนีไว้ คุณยังดูผลการทดสอบโดยใช้เครื่องมือสาธารณะการทดสอบผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ได้อีกด้วย หากไม่เห็นข้อมูลที่มีโครงสร้างผ่านเครื่องมือเหล่านี้ แสดงว่ามาร์กอัปไม่ถูกต้อง
ฉันจะเพิ่มข้อมูลที่มีโครงสร้างใน WordPress ได้อย่างไร
มีปลั๊กอิน WordPressมากมายที่จะช่วยในการเพิ่มข้อมูลที่มีโครงสร้าง นอกจากนี้ให้ดูการตั้งค่าธีม ซึ่งอาจรองรับมาร์กอัปบางประเภท
เมื่อเราเลิกใช้งานเครื่องมือทดสอบข้อมูลที่มีโครงสร้าง การทดสอบผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์จะรองรับข้อมูลที่มีโครงสร้างที่ Google ไม่รองรับหรือไม่
การทดสอบผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์รองรับข้อมูลที่มีโครงสร้างทั้งหมดที่ทริกเกอร์ผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ใน Google Search และเมื่อ Google สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับข้อมูลที่มีโครงสร้างหลายประเภทมากขึ้น เราก็จะเพิ่มการสนับสนุนให้แก่ประเภทเหล่านั้นในการทดสอบนี้ ในระหว่างที่เราเตรียมการที่จะเลิกใช้เครื่องมือทดสอบข้อมูลที่มีโครงสร้าง เราก็กำลังหาวิธีรองรับเครื่องมือทั่วไปนอก Google อยู่ด้วย
หากยังไม่ได้ดูวิดีโอจาก Lightning Talk ก่อนหน้านี้ โปรดเข้าไปดูได้ในเพลย์ลิสต์ WMConf Lightning Talk และอย่าลืมติดตามช่อง YouTube ของเราเพื่อรับชมวิดีโออื่นๆ ในอนาคต เราขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งให้คุณเข้าร่วมช่วงวิดีโอพรีเมียร์ของ YouTube ซึ่งเป็นเซสชันที่ให้คุณได้ร่วมพูดคุยแบบสดๆ พร้อมช่วงถามและตอบสำหรับวิดีโอแต่ละตอน
โพสต์โดย Daniel Waisberg ผู้ประสานงานของ Search
ผู้ใช้ช่วยส่งรายงานสแปมหลายร้อยรายการมาให้เราในแต่ละวัน แม้ว่ารายงานสแปมหลายรายการจะนำไปสู่การดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ แต่ก็เป็นเพียงสัดส่วนเล็กๆ ของการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ที่เกิดขึ้น การดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มาจากงานที่ทีมภายในของเราทำเป็นประจำเพื่อตรวจจับสแปมและปรับปรุงผลการค้นหา วันนี้เราจะอัปเดตบทความในศูนย์ช่วยเหลือให้ตรงตามวิธีการนี้มากยิ่งขึ้น นั่นก็คือเราใช้รายงานสแปมเพื่อปรับปรุงอัลกอริทึมการตรวจจับสแปมของเราเท่านั้น
รายงานสแปมมีบทบาทสำคัญ โดยช่วยให้เราทราบว่าระบบตรวจจับสแปมอัตโนมัติของเราไม่ครอบคลุมส่วนใดบ้าง ส่วนใหญ่แล้วการแก้ไขปัญหาพื้นฐานด้วยระบบตรวจจับอัตโนมัติจะมีผลมากกว่าการดำเนินการกับ URL หรือเว็บไซต์แต่ละรายการโดยเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก
ในทางทฤษฎี หากระบบอัตโนมัติของเราทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราจะตรวจจับสแปมได้ทั้งหมดและไม่จำเป็นต้องใช้ระบบการรายงานเลย ในความเป็นจริงแม้ว่าระบบตรวจจับสแปมของเราจะทำงานได้ดี แต่ก็ยังมีด้านที่ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้อยู่เสมอ และการรายงานสแปมเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะช่วยในการปรับปรุงระบบของเรา รายงานสแปมในแบบรวมช่วยให้เราวิเคราะห์แนวโน้มและรูปแบบของเนื้อหาที่เป็นสแปมเพื่อปรับปรุงอัลกอริทึมของเรา
โดยรวมแล้ว วิธีการที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการป้องกันสแปมออกจาก Search คือการใช้เนื้อหาคุณภาพสูงที่ชุมชนเว็บสร้างขึ้น รวมถึงความสามารถของเราในการแสดงเนื้อหาเหล่านั้นผ่านการจัดอันดับ คุณดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่เราปรับปรุง Search และสร้างผลการค้นหาที่ดีได้ที่เว็บไซต์วิธีการทำงานของ Search เจ้าของและผู้สร้างเนื้อหายังดูวิธีสร้างเนื้อหาคุณภาพสูงให้ประสบความสำเร็จใน Search ได้ที่แหล่งข้อมูลสำหรับ Google ผู้ดูแลเว็บด้วยระบบตรวจจับสแปมทำงานร่วมกับระบบการจัดอันดับตามปกติของเรา และรายงานสแปมช่วยให้เราปรับปรุงทั้ง 2 ระบบต่อไปได้ รายงานสแปมจึงมีความสำคัญกับเรามาก
หากมีข้อสงสัยหรือความคิดเห็น คุณส่งมาให้เราได้ทาง Twitter
โพสต์โดย Gary
เราทราบดีว่าผู้ใช้ต้องการให้เราเพิ่มความสามารถในการดาวน์โหลดใน Search Console และยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่าตอนนี้เรารองรับการส่งออกข้อมูลที่มากขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว
ต่อไปนี้คุณจะดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดในรายงาน Search Console ได้เกือบทุกประเภทแล้ว (แทนที่จะดาวน์โหลดได้เฉพาะมุมมองตารางบางรายการ) เราเชื่อว่าข้อมูลนี้จะอ่านง่ายขึ้นเมื่ออยู่นอก SC และสะดวกต่อการจัดเก็บไว้เพื่อนำมาอ้างอิงในอนาคต (หากจำเป็น) ท้ายโพสต์นี้มีส่วนที่อธิบายวิธีอื่นๆ ในการใช้ข้อมูล Search Console นอกเครื่องมือ
ต่อไปนี้เมื่อคุณส่งออกข้อมูลอย่างเช่นสถานะ AMP ออกจากรายงาน คุณจะส่งออกข้อมูลหลังแผนภูมิได้ แทนที่จะส่งออกได้เพียงตารางรายละเอียด (แบบก่อนหน้านี้) ซึ่งหมายความว่า แทนที่จะเห็นเพียงรายการปัญหาและหน้าที่ได้รับผลกระทบ ต่อไปนี้คุณจะเห็นรายละเอียดรายวันของหน้า สถานะของหน้าเหล่านั้น และการแสดงผลที่ได้รับในผลการค้นหาของ Google Search หากกำลังส่งออกข้อมูลจากมุมมองเจาะลึกแบบใดแบบหนึ่ง คุณจะเห็นรายละเอียดที่อธิบายมุมมองนี้ในไฟล์ที่ส่งออก
หากเลือก Google ชีตหรือ Excel (ฟีเจอร์ใหม่) คุณจะได้สเปรดชีตที่มี 2 แท็บ และหากเลือกดาวน์โหลดเป็น CSV คุณจะได้ไฟล์ ZIP ที่มีไฟล์ CVS ทั้งหมด 2 ไฟล์
นี่เป็นชุดข้อมูลตัวอย่างที่ดาวน์โหลดจากรายงานสถานะ AMP เราเปลี่ยนชื่อสเปรดชีตให้บ่งบอกถึงโพสต์นี้ แต่ชื่อดั้งเดิมจะมีชื่อโดเมน รายงาน และวันที่ส่งออก
เรามีการปรับปรุง 2 รายการเกี่ยวกับข้อมูลประสิทธิภาพ
นี่คือชุดข้อมูลตัวอย่างที่ดาวน์โหลดจากรายงานประสิทธิภาพ
เนื่องจากเรากำลังพูดถึงการส่งออกข้อมูลจึงอยากถือโอกาสนี้เล่าถึงวิธีอื่นๆ ในการใช้ข้อมูล Search Console นอกเครื่องมือด้วย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์หากคุณมี Use Case ที่เจาะจงซึ่งสำคัญต่อบริษัท เช่น การรวมข้อมูลกับชุดข้อมูลอื่น การทำการวิเคราะห์ขั้นสูง หรือการแสดงภาพข้อมูลในรูปแบบอื่น
เรามี 2 ตัวเลือกในการใช้ข้อมูล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ต้องการและระดับความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของคุณ
หากคุณมีความรู้ทางเทคนิคหรือมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในบริษัทที่จะช่วยเหลือได้ ให้ใช้Search Console API เพื่อดู เพิ่ม หรือนำพร็อพเพอร์ตี้และแผนผังเว็บไซต์ออก และเรียกใช้คำค้นหาขั้นสูงสำหรับข้อมูลผลการค้นหาของ Google Search
เรามีเอกสารมากมายที่อธิบายเรื่องนี้ ลองดูลิงก์ต่อไปนี้ซึ่งน่าจะช่วยคุณได้หากคุณจะเริ่มดำเนินการเลยตอนนี้
Google Data Studio เป็นโซลูชันหน้าแดชบอร์ดที่ช่วยคุณรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย สำรวจข้อมูลนั้น และบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งผลกระทบ เครื่องมือนี้มีเครื่องมือเชื่อมต่อ Search Console ที่ช่วยนำเข้าเมตริกและมิติข้อมูลต่างๆ สู่หน้าแดชบอร์ด ซึ่งจะมีประโยชน์หากคุณต้องการดูข้อมูล Search Console เทียบกับข้อมูลจากเครื่องมืออื่นๆ
ต่อไปนี้เป็นรายการข้อมูล Search Console ที่พร้อมใช้งานใน Data Studio โดยช่องสีเขียวจะหมายถึงมิติข้อมูลและช่องสีน้ำเงินคือเมตริก
หากต้องการลองใช้งาน ให้ใช้เทมเพลตนี้เพื่อแสดงภาพข้อมูล คลิก “ใช้เทมเพลต” ที่มุมขวาบนของหน้าเพื่อเชื่อมต่อข้อมูล หากต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้รายงานและข้อมูลเชิงลึกที่คุณดูได้ ให้ดูคำแนะนำทีละขั้นตอน หากต้องการลองใช้งาน ลองดูรายงานที่อิงตามเทมเพลตดังกล่าวซึ่งมีข้อมูลตัวอย่างอยู่
บอกให้เรารู้ทาง Twitter หากคุณมี Use Case ที่น่าสนใจหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับความสามารถใหม่ในการดาวน์โหลด หรือจะเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล Search Console โดยทั่วไปก็ได้ ขอให้สนุกกับการใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 หลายๆ กลุ่มและองค์กรได้มีการเผยแพร่ประกาศสำคัญเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรา
เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์นี้ เราขอแนะนำวิธีใหม่ในการไฮไลต์ประกาศพิเศษเหล่านี้ใน Google Search เว็บไซต์อาจเพิ่มข้อมูลที่มีโครงสร้าง SpecialAnnouncement ลงในหน้าเว็บของตนหรือส่งประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ใน Search Console
ในช่วงแรก เราจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อไฮไลต์ประกาศจากเว็บไซต์ด้านสาธารณสุขและหน่วยงานรัฐบาลใน Google Search เพื่อครอบคลุมข้อมูลอัปเดตสำคัญๆ อย่างเช่น การปิดโรงเรียนหรือคำสั่งให้อยู่ที่บ้าน เรากำลังพัฒนาฟีเจอร์นี้อย่างต่อเนื่องและหวังว่าจะขยายการครอบคลุมไปยังเว็บไซต์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าเราอาจจะแสดงประกาศจากเว็บไซต์ประเภทอื่นไม่ได้โดยทันที แต่การได้เห็นมาร์กอัปจะช่วยให้เราเข้าใจวิธีการขยายการครอบคลุมของฟีเจอร์นี้ได้ดียิ่งขึ้น
หมายเหตุ: นอกเหนือจากประกาศพิเศษแล้ว ยังมีตัวเลือกอื่นๆ มากมายที่เว็บไซต์ใช้เพื่อไฮไลต์ข้อมูลได้ เช่น กิจกรรมที่ถูกยกเลิกหรือการเปลี่ยนแแปลงเวลาทำการ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเลือกเหล่านี้ได้ที่ท้ายโพสต์นี้
เมื่อเพิ่มข้อมูลที่มีโครงสร้าง SpecialAnnouncement ลงในหน้า เนื้อหาดังกล่าวจะมีสิทธิ์แสดงในผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ของประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย นอกเหนือจากคำอธิบายตัวอย่างข้อมูลปกติของหน้า ผลการค้นหาที่เป็นสื่อสมบูรณ์ของประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 อาจมีข้อมูลสรุปสั้นๆ ที่ขยายเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ โปรดทราบว่ารูปแบบอาจเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาต่างๆ และคุณอาจไม่เห็นผลการค้นหาใน Google Search โดยทันที
วิธีการนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดและมีไว้เพื่อใช้แก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้าง การไฮไลต์ประกาศจะอัปเดตโดยอัตโนมัติเมื่อหน้ามีการเปลี่ยนแปลง แต่คุณจะต้องอัปเดตการประกาศด้วยตนเองหากใช้เครื่องมือนี้ นอกจากนี้ จะตรวจสอบการประกาศที่ดำเนินการด้วยวิธีนี้ผ่านการรายงานพิเศษที่เราจะทำให้ใช้งานได้ทาง Search Console ในอนาคตไม่ได้
หากจำเป็นต้องส่งประกาศด้วยวิธีนี้ ก่อนอื่นคุณจะต้องได้รับการยืนยันใน Search Console จากนั้นจึงจะส่งประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ได้
นอกเหนือจากมาร์กอัปประกาศพิเศษแล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ ในการไฮไลต์กิจกรรมประเภทอื่นซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ด้วย
ส่งคำถามหรือความคิดเห็นของคุณมาให้เราได้ทาง Twitter
โพสต์โดย Lizzi Harvey ผู้เขียนด้านเทคนิคของทีม Search Relations และ Danny Sullivan ผู้ประสานงานของ Search
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้เราเห็นว่าธุรกิจทั่วโลกต่างกำลังมองหาแนวทางระงับกิจกรรมออนไลน์ไว้ชั่วคราว เมื่อคุณคาดหวังว่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจต่อและคอยแสดงข้อมูลให้ลูกค้าเห็นอยู่เสมอ ลองมาดูภาพรวมของวิธีที่เราแนะนำในการระงับธุรกิจออนไลน์ไว้ชั่วคราว และลดผลกระทบจากสถานการณ์โดยใช้ Google Search คำแนะนำต่อไปนี้ใช้ได้กับธุรกิจทุกประเภทที่มีตัวตนในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะธุรกิจที่ระงับการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการทางออนไลน์ชั่วคราว ดูข้อมูลโดยละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์
หากเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวและคุณวางแผนจะเปิดธุรกิจออนไลน์อีกครั้ง เราขอแนะนำให้เผยแพร่เว็บไซต์ทางออนไลน์ต่อไปแต่จำกัดฟังก์ชันการทำงาน เช่น ทำเครื่องหมายสินค้าว่า "สินค้าหมด" หรือจำกัดไม่ให้ใช้ขั้นตอนในการนำสินค้าใส่รถเข็นและชำระเงิน เนื่องจากจะช่วยลดผลกระทบทางลบต่อการแสดงข้อมูลของเว็บไซต์ใน Search ผู้ใช้จะยังเห็นผลิตภัณฑ์ อ่านรีวิว หรือเพิ่มรายการสิ่งที่อยากได้เพื่อทำการซื้อภายหลังได้อยู่
แนวทางปฏิบัติที่ดีที่ควรทำด้วยเช่นกัน ได้แก่
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเอกสารสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์
คุณเลือกที่จะปิดใช้ทั้งเว็บไซต์เป็นทางเลือกสุดท้ายได้ แต่นี่เป็นวิธีสุดโต่งที่ควรทำในช่วงเวลาสั้นๆ (สูงสุด 2-3 วัน) เนื่องจากจะส่งผลกระทบสำคัญต่อเว็บไซต์ดังกล่าวใน Search แม้ว่าจะทำอย่างถูกต้องก็ตาม เราจึงแนะนำอย่างยิ่งให้ จำกัดฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์เพียงอย่างเดียวแทน โปรดทราบว่าลูกค้าอาจต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ และบริษัทแม้ว่าคุณจะไม่ได้ขายสินค้าในขณะนี้ก็ตาม
หากคุณตัดสินใจว่าจะปิดใช้ทั้งเว็บไซต์ (ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่แนะนำ) โปรดพิจารณาตัวเลือกต่อไปนี้
โปรดดำเนินการอย่างรอบคอบ: เราขออธิบายเหตุผลที่ไม่แนะนำให้ปิดใช้ทั้งเว็บไซต์ ลองคำนึงถึงผลข้างเคียงต่อไปนี้
นอกเหนือจากการจัดการเว็บไซต์แล้ว ยังมีการดำเนินการอื่นๆ ที่คุณอาจต้องทำเพื่อระงับธุรกิจออนไลน์ใน Google Search ไว้ชั่วคราวด้วย
อย่าพลาดข้อมูลอัปเดตล่าสุดโดยติดตาม Twitter ของผู้ดูแลเว็บของ Google ที่ @GoogleWMC และของ Google My Business ที่ @GoogleMyBiz
จะเกิดอะไรขึ้นหากฉันปิดเว็บไซต์ไปสัก 2-3 สัปดาห์
การปิดเว็บไซต์ไปเลยแม้เพียงไม่กี่สัปดาห์อาจส่งผลเสียต่อการจัดทำดัชนีของ Google ในเว็บไซต์ของคุณ เราขอแนะนำให้ จำกัดฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์แทน โปรดทราบว่าผู้ใช้อาจต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ และบริษัทแม้ว่าคุณจะไม่ได้ขายสินค้าในขณะนี้
จะเกิดอะไรขึ้นหากฉันต้องการยกเว้นการขาย "ผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น" ทั้งหมด
ทำได้ ไม่เป็นไร ทำให้แน่ใจว่าผู้ใช้จะซื้อ "ผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น" ไม่ได้โดย จำกัดฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์
ฉันขอให้ Google รวบรวมข้อมูลน้อยลงในช่วงนี้ได้ไหม
ได้ คุณจำกัดการรวบรวมข้อมูลได้ด้วย Search Console แต่ในกรณีส่วนใหญ่แล้วเราไม่แนะนำ เนื่องจากวิธีนี้อาจส่งผลต่อความใหม่ของผลการค้นหาของคุณใน Search เช่น Search อาจใช้เวลานานขึ้นเพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์ทุกรายการไม่พร้อมจำหน่ายในขณะนี้ ในทางกลับกัน คุณควรใช้วิธีนี้หากการรวบรวมข้อมูลของ Googlebot ทำให้เกิดปัญหาสำคัญด้านทรัพยากรในเซิร์ฟเวอร์ เราขอแนะนำให้คุณตั้งการแจ้งเตือนตัวเองให้รีเซ็ตอัตราการรวบรวมข้อมูล เมื่อเริ่มวางแผนที่จะกลับไปทำธุรกิจอีกครั้ง
ฉันจะทำให้หน้าเว็บได้รับการจัดทำดัชนีหรืออัปเดตอย่างรวดได้อย่างไร
ใช้ Search Console เพื่อขอให้ Google รวบรวมข้อมูลหน้าเว็บเพียงบางหน้า (เช่น หน้าแรก) อีกครั้ง หรือใช้แผนผังเว็บไซต์หากมีหน้าเว็บจำนวนมาก (เช่น หน้าผลิตภัณฑ์ทุกหน้า)
จะเกิดอะไรขึ้นหากฉันบล็อกบางภูมิภาคไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์
โดยทั่วไป Google รวบรวมข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้นหากคุณบล็อกสหรัฐอเมริกา Google Search จะเข้าถึงเว็บไซต์ของคุณไม่ได้เลย เราไม่แนะนำให้บล็อกทั้งภูมิภาคเพื่อไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์ชั่วคราว แต่ให้ จำกัดฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์สำหรับภูมิภาคนั้นแทน
ฉันควรใช้เครื่องมือนำออกเพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่หมดสต็อกออกไหม
ไม่ควร การใช้วิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใน Search ซึ่งมาจากแหล่งที่มาโดยตรง และอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นจากบุคคลที่สามซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ ทางที่ดีคือแสดงหน้าดังกล่าวไว้เช่นเดิมแต่ทำเครื่องหมายว่า "สินค้าหมด" วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นแม้ว่าจะซื้อสินค้าไม่ได้ก็ตาม หากคุณนำผลิตภัณฑ์ออกจาก Search ผู้ใช้จะไม่ทราบเหตุผลที่ไม่พบผลิตภัณฑ์นั้น
--------
เราทราบว่าการปิดธุรกิจในลักษณะใดก็ตามเป็นการกระทำที่สำคัญและน่าเครียด ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่หลายคนรู้ว่าต้องดำเนินการอะไรบ้าง หากลองมองย้อนดูแล้วเสียดายว่าน่าจะทำอะไรให้ต่างออกไป ก็ไม่ได้แปลว่าคุณสูญเสียทุกอย่าง ขอให้มั่นใจว่าเราพยายามพัฒนาระบบของเราให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เว็บไซต์ของคุณกลับมาแสดงใน Search ได้เร็วที่สุด เราก็หวังเช่นเดียวกันว่าวิกฤตนี้จะผ่านพ้นไปโดยเร็ว และคิดว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้คุณเตรียมธุรกิจออนไลน์ให้พร้อมดำเนินการต่อได้อย่างรวดเร็วเมื่อเวลานั้นมาถึง หากพบปัญหาหรือมีข้อสงสัยในระหว่างนี้ โปรดใช้ช่องทางสาธารณะของเราเพื่อขอความช่วยเหลือ
เพื่อเป็นการแนะนำแนวทางให้กับองค์กรด้านสุขภาพได้ดีขึ้นในขั้นตอนนี้ (หรือที่เรียกกันว่า SEO "การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือการค้นหา") เราจึงได้สร้างบทความของศูนย์ช่วยเหลือขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่สำคัญโดยมุ่งเน้นที่เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านสุขภาพ ดังนี้
เราจะพิจารณาอนุญาตให้องค์กรเข้าถึงกลุ่มนี้เป็นรายองค์กร โดยในเบื้องต้น เราจะรับเฉพาะโดเมนที่อยู่ภายใต้หน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติและองค์กรระดับรัฐของสหรัฐอเมริกา เราจะแจ้งให้ทราบที่บล็อกโพสต์นี้หากมีการขยายสู่โดเมนอื่นในอนาคต และติดตามได้ในบัญชี Twitter ของเรา คุณจะต้องลงทะเบียนโดยใช้อีเมลที่เป็นที่อยู่โดเมนขององค์กรดังกล่าว (เช่น name@health.gov) หรือมีสิทธิ์เข้าถึงบัญชี Search Console ของเว็บไซต์
กรอกฟอร์มนี้เพื่อขอสิทธิ์เข้าถึงกลุ่ม Google Search สำหรับโควิด-19
เราสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบันขององค์กรด้านสุขภาพ และจะปิดกลุ่มทันทีที่ WHO เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 ไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว หรือเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วในวงกว้าง
ทุกคนสามารถเข้าใช้ฟอรัมความช่วยเหลือสำหรับผู้ดูแลเว็บที่มีอยู่เดิมได้เสมอ และหากคุณมีข้อสงสัยหรือความคิดเห็นใดๆ โปรดแจ้งให้เราทราบที่ Twitter
โพสต์โดย Daniel Waisberg ผู้ประสานงานของ Search & Ofir Roval Lead PM ของ Search Console
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ Google ได้เริ่มทำงานเกี่ยวกับการจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นวิธีรวบรวมข้อมูลเว็บของ Google โดยใช้ Googlebot สำหรับสมาร์ทโฟน จากการวิเคราะห์ของเรา เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่แสดงในผลการค้นหาพร้อมใช้การจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรกแล้ว โดย 70% ของเว็บไซต์ที่แสดงในผลการค้นหาของเราได้เปลี่ยนไปใช้การจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรกแล้ว เพื่อให้ดำเนินการได้ง่ายขึ้น เราจะเปลี่ยนไปใช้การจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรกกับเว็บไซต์ทั้งหมดตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ในระหว่างนี้ เราจะย้ายเว็บไซต์ไปยังการจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรกต่อไปเมื่อระบบของเราพบว่าเว็บไซต์เหล่านั้นพร้อมแล้ว
เมื่อเราทำให้โดเมนหนึ่งเปลี่ยนไปใช้การจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรก จะมีการรวบรวมข้อมูลของ Googlebot ในโดเมนนั้นเพิ่มมากขึ้นระหว่างที่เราอัปเดตดัชนีไปยังเวอร์ชันอุปกรณ์เคลื่อนที่ของเว็บไซต์คุณ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจใช้เวลาสักระยะ ขึ้นอยู่กับแต่ละโดเมน หลังจากนั้น เราจะยังรวบรวมข้อมูลด้วย Googlebot สำหรับเดสก์ท็อปแบบเดิมเป็นระยะๆ แต่การรวบรวมข้อมูลสำหรับ Search ส่วนใหญ่จะทำโดย User Agent สำหรับสมาร์ทโฟน ชื่อที่แน่นอนของ User Agent ที่ใช้จะตรงกับเวอร์ชัน Chromium ที่ใช้ในการแสดงผล
คุณตรวจสอบการจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรกใน Search Console ได้หลายวิธี สถานะจะแสดงในหน้าการตั้งค่า รวมถึงในเครื่องมือตรวจสอบ URL เมื่อตรวจสอบ URL ที่เจาะจงเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลครั้งล่าสุด
คำแนะนำของเราเกี่ยวกับการทำให้เว็บไซต์ทั้งหมดทำงานได้อย่างดีสำหรับการจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรกยังคงเป็นคำแนะนำที่ใช้ได้ทั้งกับเว็บไซต์ใหม่และเว็บไซต์ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราขอแนะนำให้ตรวจดูว่าเนื้อหาที่แสดงนั้นเหมือนกัน (รวมถึงข้อความ รูปภาพ วิดีโอ ลิงก์) ตลอดจนตรวจดูว่าข้อมูลเมตา (ชื่อและคำอธิบาย เมตาแท็ก robots) และข้อมูลที่มีโครงสร้างทั้งหมดนั้นเหมือนกัน ขอแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้อีกครั้งเมื่อเว็บไซต์เปิดตัวหรือมีการออกแบบใหม่อย่างมีนัยสำคัญ คุณตรวจสอบทั้งเวอร์ชันเดสก์ท็อปและเวอร์ชันอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ง่ายๆ ในเครื่องมือทดสอบ URL โดยตรง หากคุณใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อวิเคราะห์เว็บไซต์ เช่น โปรแกรมรวบรวมข้อมูลหรือเครื่องมือตรวจสอบ ให้ใช้ User Agent สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่หากต้องการดูเว็บไซต์แบบที่ Google Search เห็น
แม้ว่าเราจะยังคงรองรับวิธีการสร้างเว็บไซต์ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่หลากหลายต่อไป แต่ขอแนะนำให้เว็บไซต์ใหม่ใช้การออกแบบเว็บที่ตอบสนองตามอุปกรณ์ และขอแนะนำไม่ให้ใช้ URL อุปกรณ์เคลื่อนที่แยกต่างหาก (มักเรียกว่า "m.") เนื่องจากปัญหาและความสับสนที่เราพบเห็นมาตลอดหลายปี ทั้งจากเครื่องมือค้นหาและจากผู้ใช้
การจัดทำดัชนีเพื่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นอันดับแรกพัฒนามาไกลมาก เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้เห็นเว็บพัฒนาจากเวอร์ชันเดสก์ท็อปมาเป็นเวอร์ชันอุปกรณ์เคลื่อนที่ และผู้ดูแลเว็บช่วยให้เรารวบรวมข้อมูลและจัดทำดัชนีให้สอดคล้องกับวิธีที่ผู้ใช้โต้ตอบกับเว็บ เราขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือของทุกๆ คนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่น เราจะตรวจสอบและประเมินการเปลี่ยนเหล่านี้อย่างถี่ถ้วนต่อไป หากมีคำถาม โปรดแวะไปที่ฟอรัมสำหรับผู้ดูแลเว็บหรือกิจกรรมสาธารณะของเรา
Enter your email address:
Delivered by FeedBurner