ในปัจจุบันบริษัทบางที่ยังคงใช้วิธีจ่ายเงินให้แพลตฟอร์มหรือบล็อกต่างๆพูดถึงสินค้าหรือบริการของบริษัทในบทความ ในโพสต์ หรือในบล็อก สมัยนี้บางที่เราเรียกกันว่าโพสต์ฝากร้าน ถือว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดออนไลน์รูปแบบหนึ่ง เราเรียกบทความเหล่านี้ว่าโพสต์ที่มีผู้สนับสนุน โพสต์ของผู้ร่วมให้ข้อมูล โพสต์ของแขกรับเชิญ โพสต์ของพาร์ทเนอร์ หรือโพสต์ที่คัดลอกมา ภาษาอังกฤษจะเรียกเทคนิคนี้ว่า sponsored posts โดยทั่วไปบทความเหล่านี้จะเขียนขึ้นโดยเว็บไซต์หนึ่ง และเผยแพร่ในอีกเว็บไซต์
จริงๆแล้ว Google ไม่ได้ห้ามการเผยแพร่บทความแบบนี้ในกรณีที่บทความเขียนขึ้นเพื่อให้ข้อมูลผู้ใช้ ให้ความรู้แก่ผู้ชมเว็บไซต์อีกเว็บ แต่สิ่งที่ละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรูปแบบลิงก์ของ Google คือ เมื่อเจตนาหลักของโพสต์คือการสร้างลิงก์จำนวนมากกลับไปที่เว็บไซต์ของผู้เขียน ด้านล่างนี้คือปัจจัยที่บ่งบอกว่าบทความละเมิดหลักเกณฑ์เหล่านี้ ถ้าเราพบว่ามีลักษณะเช่นนี้อย่างชัดเจน
● การใช้ลิงก์ที่มีคีย์เวิร์ดเชิงโฆษณาจำนวนมากไปยังเว็บไซต์ของคุณในบทความ
● การปกปิดว่าบทความหรือบล็อกโพสต์มีผู้สนับสนุน
● การเผยแพร่บทความในหลายเว็บไซต์ หรือการมีบทความจำนวนมากในเว็บไซต์ขนาดใหญ่หลายเว็บไซต์
● การใช้หรือว่าจ้างนักเขียนบทความที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่กำลังเขียน
● การใช้เนื้อหาเหมือนกันหรือคล้ายกันในบทความ หรือการทำซ้ำเนื้อหาทั้งหมดของบทความที่มีอยู่ในเว็บไซต์คุณ (ในกรณีนี้ขอแนะนำให้ใช้ rel=”canonical” เพิ่มเติมจาก rel=”nofollow”)
เมื่อตรวจพบว่าเว็บไซต์หนึ่งเผยแพร่บทความที่มีลิงก์สแปม Google อาจประเมินคุณภาพของเว็บไซต์ต่างไปจากเดิมและอาจส่งผลกระทบต่ออันดับ เว็บไซต์ที่ยอมรับและเผยแพร่บทความดังกล่าวควรคัดกรองบทความอย่างระมัดระวัง โดยถามตัวเองอย่างเช่น ฉันรู้จักบุคคลนี้ไหม ข้อความของบุคคลนี้เหมาะกับผู้ชมในเว็บไซต์ของฉันไหม บทความนี้มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ไหม หากมีลิงก์ที่มีเจตนาที่น่าสงสัยในบทความ ให้ดูว่าผู้เขียนใช้ rel=”nofollow” ในลิงก์ไหม
ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทที่จ้างให้เขียนโพสต์ที่มีผู้สนับสนุนหรือเป็นเว็บไซต์ที่เขียนโพสต์ดังกล่าว แนะนำให้อ่านแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านล่างนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหานี้มีประโยชน์ต่อผู้ใช้และเป็นไปตามหลักเกณฑ์สำหรับผู้ดูแลเว็บ Google
1. ใช้แท็ก nofollow ในกรณีที่เหมาะสม
-
เว็บไซต์ของบริษัท
-
บัญชีโซเชียลมีเดียของบริษัท
-
หน้าผู้ขายออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ในโพสต์ดังกล่าว
-
หน้าบริการรีวิวที่มีรีวิวของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
-
แอปในอุปกรณ์เคลื่อนที่ของบริษัทใน App Store
เว็บไซต์ควรใช้แท็ก nofollow ในลิงก์เหล่านี้ทั้งหมดเพราะลิงก์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง (กล่าวคือ จะไม่มีการสร้างลิงก์ขึ้นหากบริษัทไม่ได้เสนอสินค้าหรือบริการฟรีเพื่อแลกกับลิงก์ดังกล่าว) บริษัทที่จ้างหรือบริษัทด้านการตลาดที่ทำงานกับบริษัทนั้นๆ จะมีส่วนช่วยลดปัญหานี้ได้ด้วยการเตือนให้เว็บไซต์ใช้แท็ก nofollow ในลิงก์เหล่านี้
2. เปิดเผยความสัมพันธ์
ผู้ใช้อยากรู้ว่าเค้ากำลังอ่านเนื้อหาที่มีผู้สนับสนุนอยู่หรือเปล่า นอกจากนี้ บางประเทศยังมีกฎหมายที่กำหนดให้คุณต้องเปิดเผยการสนับสนุนด้วย คุณจะเปิดเผยการสนับสนุนในบริเวณใดของโพสต์ก็ได้ แต่แสดงไว้ที่ด้านบนสุดจะดีที่สุดค่ะ
3. สร้างเนื้อหาที่ดึงดูดใจและไม่ซ้ำ ให้คำนึงถึงผู้ชมเป็นหลัก
ถ้าคุณมุ่งเอาการสร้างลิงก์เป็นหลัก คุณภาพของบทความอาจจะน้อยลงและสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้กับผู้ใช้ สำหรับเว็บไซต์ที่สร้างบทความมาเพื่อใส่ลิงก์โดยเฉพาะนั้น Google จะดำเนินการกับพฤติกรรมแบบนี้เพราะถือว่าส่งผลเสียต่อเว็บโดยรวม และอาจประเมินคุณภาพของเว็บไซต์ต่างไปจากเดิมจนส่งผลกระทบต่ออันดับของเว็บก็ได้ นอกจากนี้เว็บมาสเตอร์ส่วนใหญ่ไม่ชอบเห็นคำขอที่บอกให้ "โพสต์บทความของฉันให้หน่อยสิ" ที่ซ้ำๆ ซากๆ หรือก้าวร้าว หรือบทความฝากร้าน หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ขอแนะนำให้รายงานผ่านฟอร์มรายงานสแปมของเรา
ดังนั้น เวลาที่คุณจะเผยแพร่บทความหรือบล็อกโพสต์ในลักษณะนี้ ให้ถามตัวเองก่อนว่า บทความหรือบล็อกโพสต์นี้มีประโยชน์และน่าสนใจสำหรับผู้ใช้ไหม (สำหรับผู้ชมเว็บไซต์) และการเผยแพร่จะส่งผลต่อชื่อเสียงของเว็บไซต์อย่างไรถ้าฉันจะรับรองผลิตภัณฑ์นี้ แล้วสิ่งอื่นๆ ก็จะตามมาเองค่ะ
โพสต์โดย Cherry Prommawin, Search Quality Analyst