ปกติแล้วก่อนจะซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง คุณทำอย่างไรคะ? คุณจะรู้ได้ไงว่าคุณจะชอบหนังสือเล่มนั้นหรือเปล่า? แน่นอนว่าก่อนที่จะใช้เวลาอ่านเป็นชั่วโมงๆ เราก็จะอยากเห็นภาพคร่าวๆก่อนว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือแบบไหน ส่วนใหญ่เราก็เลยต้องอ่านเรื่องย่อ คำนำ ฉากเปิดเรื่องเพื่อดูคร่าวๆว่าเราจะชอบหนังสือเล่มนั้นหรือเปล่า
Search Snippet หรือ ตัวอย่างข้อมูลของผลการค้นหา หรือเรียกง่ายๆว่าคำอธิบายเว็บก็มีหน้าที่แบบเดียวกันเลยค่ะ คือตัวนี้เอาไว้ช่วยผู้ใช้ตัดสินใจว่าควรจะใช้เวลาคลิกเข้าไปอ่านหน้าเพจแต่ละหน้าหรือเปล่า
|
ตัวอย่างข้อมูลของผลการค้นหา |
ถ้าตัวอย่างข้อมูลของผลการค้นหาอ่านแล้วเข้าใจง่าย สื่อความหมายได้ดีและมีความเกี่ยวข้องกับเว็บสูง ก็มีแนวโน้มสูงที่คุณจะคลิกเข้าไปดูหน้าเพจนั้น และก็มีแนวโน้มที่คุณจะพอใจกับหน้าเหล่านั้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา Google ดึงตัวอย่างข้อมูลของผลการค้นหามาจาก 3 แหล่งต่อไปนี้
1. เนื้อหาบนหน้าเว็บ
2. คำอธิบายเมตา (Meta description)
3. รายการ DMOZ
เนื้อหาบนเพจของคุณเป็นตัวเลือกที่ชัดเจนสำหรับการดึงตัวอย่างข้อมูลในผลการค้นหา และเนื้อหาที่ดึงมาได้มักจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหาของผู้ใช้มากที่สุด แต่กรณีนี้ก็ไม่ได้เวิร์คเสมอไปค่ะ เพราะว่าก็จะมีบางครั้งที่ตัวเนื้อหาไม่ได้เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับตัวอย่างข้อมูล เช่น ถ้าสมมติมีคนค้นหาข้อมูลว่าสำนักพิมพ์เจ้าหนึ่งขายหนังสืออะไรบ้าง หน้าแรกของเว็บสำนักพิมพ์นั้นอาจจะมีรูปภาพของสำนักพิมพ์ 2-3 ภาพ มีโลโก้บริษัท และอาจมีลิงก์ 2-3 รายการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่พอที่จะเอาไปเป็นตัวอย่างข้อมูลแน่ๆค่ะ
ในกรณีที่หน้าหน้านั้นมีเนื้อหาที่เป็นข้อความไม่มากพอที่จะเป็นตัวอย่างข้อมูลในผลการค้นหา แหล่งข้อมูลสำรองที่เราใช้อีกอันก็คือคำอธิบายเมตา หรือภาษาอังกฤษเราเรียกว่า Meta description ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่คุณกำหนดได้ และคุณควรตั้งเป็นข้อความสั้นๆ ที่อธิบายหน้าเว็บนั้นๆได้อย่างครอบคลุม แม่นยำในคำไม่กี่คำ พูดง่ายๆคือเหมือนคุณตั้งพาดหัว หรือเรื่องย่อให้กับหน้าเว็บแต่ละหน้าของคุณค่ะ
สำหรับแหล่งข้อมูลสุดท้าย ในกรณีที่หน้ามีเนื้อหาที่เป็นข้อความไม่มากพอสำหรับการสร้างตัวอย่างข้อมูล และไม่มีคำอธิบายเมตา หรือคำอธิบายไม่เกี่ยวข้องกับหน้า หรือมีคุณภาพต่ำ แหล่งข้อมูลสำรองที่เราเคยใช้คือ DMOZ หรือที่เรียกว่า Open Directory Project เราเคยใช้ DMOZ เป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างตัวอย่างข้อมูลเป็นเวลามากว่า 10 ปี เพราะตัวอย่างข้อมูลของ DMOZ มักมีคุณภาพสูงกว่าตัวอย่างที่เว็บมาสเตอร์ หรือเจ้าของเว็บตั้งไว้ในคำอธิบายเมตา หรือสื่อความหมายได้ดีกว่าเนื้อหาที่อยู่ในหน้า
แต่เนื่องจากตอนนี้ DMOZ ได้ปิดตัวลงไปแล้ว เราจึงหยุดใช้รายการของ DMOZ ในการจัดทำตัวอย่างข้อมูล ดังนั้นเจ้าของเว็บจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างคำอธิบายเมตาที่มีคุณภาพให้มากขึ้นอีกนะคะ โดยเฉพาะในกรณีที่คุณเพิ่มเนื้อหาเพิ่มเติมลงในหน้าไม่ได้ หรือเว็บคุณไม่ได้มีคำอธิบายอะไรมากมาย
คำอธิบายเมตาที่ดีควรเป็นอย่างไร
คำอธิบายเมตาที่ดีจะต้องเป็นข้อความสั้นๆ ที่อธิบายเนื้อหาของหน้าได้อย่างถูกต้อง คำอธิบายนี้เป็นเหมือนสำนวนการขาย หรือ pitch เพื่อโน้มน้าวผู้ใช้ว่าหน้านี้คือหน้าที่เค้าต้องการจะคลิกเข้าไปดู ถ้าคุณต้องการเคล็ดลับเพิ่มเติม แวะไปดูบทความในศูนย์ช่วยเหลือของเราได้ค่ะ อย่าลืมตรวจสอบว่าหน้าเว็บในเดสก์ท็อปและมือถือของคุณมีทั้งชื่อและคำอธิบายเมตาแล้วนะคะ สำคัญมากค่ะ
ปัญหาอะไรบ้างที่เราพบบ่อยๆเกี่ยวกับคำอธิบายเมตา
บางครั้งเว็บมาสเตอร์ หรือเจ้าของเว็บก็ไม่ได้นึกถึงคำอธิบายเมตา ก็เลยปล่อยว่างไว้ เพราะคำอธิบายเมตามักจะเห็นได้ในเครื่องมือค้นหา และซอฟต์แวร์อื่นๆ เท่านั้น ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เราเจอบ่อยๆ ว่ามีการใช้คำอธิบายเมตาแบบเดียวกันกับหน้าหลายๆหน้า (บางครั้งคำอธิบายเมตาเดียว ใช้ทั้งเว็บเลยก็มีบ่อยค่ะ) ในทางกลับกัน ปัญหาอีกอย่างที่พบบ่อยก็คือคำอธิบายไม่ตรงประเด็น มีคุณภาพต่ำ หรือเป็นสแปม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีในการค้นหา เราก็เลยเลือกที่จะไม่สนใจคำอธิบายเมตาในลักษณะเหล่านั้น
คำอธิบายเมตายาวได้แค่ไหน มี limit หรือเปล่า
เราไม่จำกัดความยาวของคำอธิบายเมตา แต่ตัวอย่างข้อมูลในผลการค้นหาจะถูกตัดสั้นตามที่จำเป็น ซึ่งโดยปกติแล้วเพื่อให้พอดีกับความกว้างของหน้าจออุปกรณ์ที่คุณใช้ค่ะ
หลังจากที่ DMOZ (ODP) ปิดตัวไปแล้ว เราก็ต้องเลิกใช้ข้อมูลของ DMOZ ดังนั้นคำสั่ง NOODP ก็เลยเลิกใช้งานแล้วเช่นกันค่ะ
ถ้าไม่อยากให้ Google ใช้เนื้อหาของหน้าเป็นตัวอย่างข้อมูล จะทำอะไรได้ไหม
คุณสามารถป้องกันไม่ให้ Google สร้างตัวอย่างข้อมูลใดๆ เลยด้วยการระบุคำสั่ง robots "nosnippet" แต่จะไม่มีวิธีป้องกันการใช้เนื้อหาของหน้าเป็นตัวอย่างข้อมูล แล้วบังคับให้เราใช้แหล่งข้อมูลอื่นๆ
ถ้ามีข้อสงสัยอะไร เจอกันที่ชุมชนออนไลน์เว็บมาสเตอร์ Google ได้เลยนะคะ!
อย่าลืมกลับไปเช็คเว็บของคุณว่าตั้งคำอธิบายเมตา ที่ดีแล้วหรือยัง สำคัญมากจ้า!